อาการแพ้ท้องเป็นอาการปกติที่พบได้ในคุณแม่มือใหม่เสียส่วนใหญ่ แต่คุณแม่ท้องแรกบางรายก็แทบไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ถือว่าพบได้ทั่วไป และไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และคุณลูก นอกเสียจากว่าอาการของบางคนจะรุนแรงจนถึงขั้นที่ทำให้อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้
อาการเหล่านี้จะส่งผลลูกน้อยในครรภ์เกิดภาวะขาดสารอาหารที่สำคัญสำหรับนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้ ซึ่งอาการแพ้ท้องจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลักๆ ด้วยกัน เป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ครั้งแรก เพื่อจะได้รับมืออย่างถูกต้อง ช่วยให้ลูกน้อยเติบโตแข็งแรงในทุกๆ ด้านนั่นเองค่ะ
1.อาการในระดับที่ 1

มีชื่อเรียกที่รู้จักกันว่า Morning Sickness ซึ่งคุณแม่จะสังเกตว่าตัวเองมีอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย คลื่นไส้อาเจียน ตามชื่อเรียกแล้ว อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นในช่วงเวลาเช้าของวัน พบได้มากในคุณแม่ส่วนใหญ่ ทำให้การรับประทานอาหารมื้อเช้าได้น้อยลง แต่อาการที่เกิดขึ้นนี้มักจะไม่รุนแรงและไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง มีผลข้างเคียงคือทำให้น้ำหนักลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย คุณแม่สามารถเลือกกินอาหารอ่อนในช่วงเช้าที่ไม่หนักท้อง ก็จะช่วยให้สามารถทานอาหารได้มากขึ้น
2.อาการในระดับที่ 2

อาการระดับสอง จะคล้ายๆ กับอาการในระดับแรก คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และจะหนักกว่าเพราะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ แม้จะดูแลตัวเองด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้น อาการก็จะยังไม่ทุเลา จนทำให้บางรายมีปัสสาวะเป็นสีเข้มขึ้น ซึ่งหากสังเกตพบ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยด่วน ซึ่งแพทย์จะมีการให้น้ำเกลือและกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดทดแทนกรณีที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ จะช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ลดอาการคลื่นไส้ และทำให้อาการแพ้ท้องค่อยๆ กลับมาดีขึ้นได้ในไม่ช้า
3.อาการในระดับที่ 3

เป็นอาการที่เรียกกันว่า Hyperemesis Gravidarum (HG) เป็นอาการที่มีความรุนแรงมาก แต่พบได้น้อย โดยลักษณะอาการที่พบคือคลื่นไส้และอาเจียนอย่างหนัก จนไม่สามารถรับประทานอาหารใดๆ ได้เลย ส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำ การอาเจียนที่บ่อยเกินไป เสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดบริเวณลำคอฉีกขาด มีเลือดปนออกมาพร้อมกับการอาเจียน จำเป็นต้องรีบเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ พร้อมทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาการรุนแรงเช่นนี้สามารถเป็นต่อเนื่องกันยาวนานจนถึงช่วงที่ครบกำหนดคลอดเลยก็เป็นได้
ระยะเวลาของการแพ้ท้องในคนท้องแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัจจัยรอบด้านอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถระบุตายตัวได้ว่าอาการจะดีขึ้นในช่วงอายุครรภ์เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรงมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ คุณแม่อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยในครรภ์เกิดภาวะขาดสารอาหารที่กระทบต่อการเจริญเติบโตของพวกเขาเอาได้นั่นเองค่ะ